ความรู้เกี่ยวกับแมลงวัน

ถูกจัดอยู่ในอันดับ ORDER DIPTERA ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่อันดับ 4 ของแมลงเป็นแมลงขนาดเล็ก มีปีก 1 คู่ มีลำตัวอ่อนนุ่ม และเป็นแมลงที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เราสามารถพบแมลงวันได้ทุกแห่งในโลก หลายชนิดพบว่าสามารถดูดเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และหลายชนิดสามารถกัดกินหรือทำลายพืชที่ปลูกทำให้ผลผลิตเสียหาย หลายชนิดสวยงาม บางชนิดมีลวดลายแปลกตา บางชนิดเป็นตัวห้ำ หรือผสมเกสร ดังนั้น แมลงวันจึงมีความสำคัญทางเเกษตรและทางการแพทย์ แมลงวัน มีหลายชนิด เช่น แมลงวันบ้าน แมลงวันหลังลาย แมลงวันหัวเขียว แมลงวันทอง แมลงวันสี แมลงวันกระโดด แมลงวันผึ้ง แมลงวันฉก แมลงวันลาย แมลงวันดอกไม้ แมลงวันหัวหนา แมลงวันก้นขน แมลงวันเขาวัว แมลงวันปากดำ แมลงวันตอมตา ฯลฯ

 

ชนิดแมลงวั

1.แมลงวันบ้าน

ลักษณะสำคัญ : ตัวเต็มวัยสีเทา มีแถบสีดำ 4 เส้น พาดอยู่ส่วนอกด้านบน หรือ กลางลำตัว ลำตัวยาวตัวประมาณ 1/8-1/4 นิ้ว ตัวหนอนสีขาวครีม หัวแหลมท้ายป้าน ไม่มีขา ไข่มีขนาดเรียวยาว 1 มม. สีขาว

อาหาร :   กินอาหารได้หลายชนิด รวมทั้งของเสีย

ตัวเมียวางไข่ได้ครั้งละ 100-150 ฟอง และสามารถวางไข่ได้สูงถึง 600 ฟองโดยชอบวางไข่ตามกองขยะที่มีความชื้นสูง หรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ ไข่ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 6 ชั่วโมง ตัวหนอนลอกคราบประมาณ 3 ครั้ง จากนั้นจะเข้าดักแด้ และฟักเป็นตัวเต็มวัย ในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์

2. แมลงวันหัวเขียว

เป็นแมลงวันที่มีขนาดใหญ่ มีขนาดลำตัว 8-12 มิลลิเมตร ลำตัวสีน้ำเงินแกมเขียว เป็นมัน แมลงวันชนิดนี้ชอบอยู่นอกบ้าน บางครั้งอาจตอมอาหารหรือแหล่งที่มีเชื้อโรค ตัวเต็มวัยจะหากินตามแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เล้าเป็ด ไก่กองขยะ ตลาด ซากเน่าเปื่อย มูลสัตว์ ก่อให้เกิดความรำคาญกับสัตว์และอาจนำโรคมาสู่สัตว์

อาหาร :   กินอาหารได้หลายชนิด ของเหลวจากสารอินทรีย์วัตถุ น้ำหวานจากพืช
แมลงวันหัวเขียว ใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระยะไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และฟักเป็นตัวเต็มวัย เป็นเวลา อย่างน้อย 10 วัน ตัวเมียวางไข่และ ตัวหนอนอาศัยเจริญเติบโตตามมูลสัตว์

แมลงวัน สามารถนำโรคมาสู่มนุษย์ หรือสัตว์เลี้ยงได้โดยถ่ายทอดเชื้อโรคที่ติดมากับลำตัว , ปาก หรือขาของแมลง ในขณะที่มันตอมตา ในขณะที่มันตอมอาหาร หรือสิ่งปฏิกูลต่างๆเมื่อคนรับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม ก็จะได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดโรคต่างๆหลายชนิดเช่น โรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งได้แก่ โรคท้องร่วง, โรคบิด, ไทฟอยด์, พาราไทฟอยด์, อติวาตกโรค, อาหารเป็นพิษ นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโปลิโอ และไวรัสอื่นๆได้ เช่น โรคตาแดง โรคริดสีดวงตา หรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ

แมลงวันที่ใกล้ชิดมนุษย์และเป็นปัญหาสาธารณสุขมากอันดับต้น คือ แมลงวันบ้าน แมลงวันหลังลาย และ แมลงวันหัวเขียว ซึ่งมีแหล่งเพาะพันธ์อยู่ใกล้ชุมชนตามแหล่งขยะมูลฝอย , มูลสัตว์, ปุ๋ย หรือสิ่งของที่กำลังเน่า โดยแมลงวันสามารถค้นหา หรือตอมอาหารได้ โดยอาศัยสิ่งจูงใจ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแอมโมเนีย และสารระเหยที่เกิดจากสิ่งเน่าเปื่อยผุพัง

แมลงวัน มีการเจริญเติบโตแบบสมบูรณ์ ( COMPLETE METAMORPHOSIS) ประกอบด้วย 4 ระยะ

1. ระยะไข่
แมลงวันสามารถผสมพันธุ์ได้ หลังจากเป็นตัวเต็มวัยได้เพียง 18-30 ชั่วโมงเท่านั้น และผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นก็จะหาแหล่งที่เหมาะสมในการวางไข่ โดยจะค้นหาแหล่งดังกล่าว โดยอาศัยกลิ่นเป็นตัวนำทาง มันจะเริ่มวางไข่ในที่ลับตา แสงแดดส่องไม่ถึง และมีความชื้นสูง โดยวางเป็นกลุ่มๆละประมาณ 120 ฟอง ตัวเมียบางตัวสามารถวางไข่ได้มากกว่า 10 ครั้งในชั่วชีวิต ดังนั้น แมลงวันตัวเมีย 1 ตัว สามารถขยายพันธุ์ได้ 200-1,000 ฟอง ไข่ แมลงวันมีระยะฟักภายใน 6-12 ชั่วโมง

2. ระยะตัวอ่อน (หนอน)
หรือหนอน มีรูปร่าง เรียวยาว ปลายด้านท้องใหญ่ หัวหรือปากเรียวแหลมและแข็ง ตัวอ่อนจะกินของกำลังเน่าเหม็นมักชอบกลิ่นแอมโมเนีย หรือกลิ่นของยีสต์เป็นพิเศษ ตัวอ่อนจะกินอาหารมากจนเข้าใกล้ระยะดักแด้จึงจะหยุดกินอาหาร ระยะนี้กินเวลา 6-7 วัน

3. ระยะดักแด้
เมื่อหนอนหยุดกินจะเริ่มคลานไปสู่ที่แห้งๆ เพื่อเริ่มปรับเปลี่ยนร่างกาย โดยหดตัวเองให้สั้นลง จนมีลักษณะอ้วนสั้น ผนังลำตัวจะแข็งขึ้นเพื่อห่อหุ้มตัวหนอน ระยะนี้ใช้เวลา 3-4 วัน ก็จะเข้าสู่ระยะตัวโตเต็มวัน

4. ระยะตัวเต็มวัย
เมื่อเข้าดักแด้ และพัฒนาร่างกายสู่ภายในจนมีรูปร่างครบสมบูรณ์ก็จะเริ่มออกจากดักแด้ ซึ่งขณะที่ออกจากดักแด้ใหม่ๆ ยังบินไม่ได้ในทันที จะต้องใช้วิธีเดิน กระโดด เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 15 นาที ลำตัวและปีกเริ่มแข็งแรงขึ้นสมารถบินได้

ขั้นตอนการปฏิบัติงานบริการกำจัดแมลงวัน  
การควบคุม ป้องกัน กำจัดแมลงวัน วิธีที่ดีที่สุดคือ การรักษาความสะอาด และการสุขาภิบาลที่ดี ทั้งพื้นที่ภายในและภายนอกอาคาร   
เช่นพื้นที่อาคารโรงงาน บริเวณที่ทิ้งขยะ ตลอดจนถึงถังบรรจุอาหาร และอุปกรณ์ที่ใช้ซึ่งต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ  
วิธีป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมี 
1. ใช้สารเคมีฉีดพ่นบริเวณแหล่งเพาะพันธุ์ แหล่งอาหารของแมลงวันให้ครอบคลุมทั่วบริเวณทั้งหมด ใช้สารเคมีฉีดพ่นบริเวณที่แมลงวันเกาะพักอาศัยอยู่ เช่น คาน , เสา, พุ่มไม้ และอื่น ๆ  
2. ใช้สารเคมีเหยื่อสำเร็จรูปใส่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อน การจัดวาง ณ บริเวณที่เป็นแหล่งอาหารแมลงวัน  
3. การใช้เครื่องดักแมลงไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ดักแมลงวันต่าง ๆ