มด เป็นสัตว์ในวงศ์ Formicidae อันดับ Hymenoptera มีจำนวนชนิดมากกว่า 12,000 ชนิด โดยพบมากในเขตร้อนของโลก มดมีการสร้างรังเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ บางรังมีจำนวนประชากรมากถึงล้านตัว มีการแบ่งวรรณะกันทำหน้าที่คือ วรรณะมดงาน เป็นมดเพศเมียเป็นหมัน ทำหน้าที่หาอาหาร สร้างและซ่อมแซมรัง ปกป้องรังจากศัตรู ดูแลตัวอ่อน และงานอื่นๆ ทั่วไป เป็นวรรณะที่พบได้มากที่สุด วรรณะสืบพันธุ์ เป็นมดเพศผู้ และราชินี เพศเมีย มีหน้าที่สืบพันธุ์ เนื่องจากมดเป็นสัตว์ในวงศ์ Formicidae จึงสามารถผลิตกรดมดหรือกรดฟอร์มิกได้เป็นลักษะเฉพาะของสัตว์ในวงศ์
1. มดราชินี (queen) |
เป็นมดเพศเมียที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ก่อนที่จะเป็นมดราชินี จะเป็นมดเพศเมีย ( female) ธรรมดาก่อน เป็นมดมีปีก เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะสลัดปีกทิ้งไป แล้วเริ่มสร้างรังวางไข่ มดราชินีจะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของมดทั้งรัง ตั้งแต่กำหนดเพศ จำนวนประชากร และพฤติกรรมต่างๆ เปรียบเหมือนเป็นศูนย์รวมของมดทุกชีวิตเลยก็ว่าได้ หากมดราชินีถูกฆ่าตาย มดตัวอื่นๆ จะขาดที่พึ่งและแตกกระจายกันไปไม่มีจุดหมาย อยู่เพื่อรอวันตายซึ่งอาจจะตายเองหรือถูกสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร โดยทั่วไปมดรังหนึ่งจะมีมดราชินีเพียงตัวเดียวเท่านั้น |
2. มดเพศผู้ (male) |
เป็นมดตัวผู้ มีปีกมีขนาดใกล้เคียงกับมดงาน มีหน้าที่เพียงแค่ผสมพันธุ์อย่างเดียว ในรังหนึ่งมีมดเพศผู้อยู่ไม่มาก และจะเกิดเพียงรุ่นเดียวเท่านั้นในรอบปี |
3. มดงาน (worker) |
เป็นมดตัวเมียที่เป็นหมัน ไม่มีปีก มีหน้าที่คอยหาอาหารป้องกันศัตรู ดูแลรังไข่และตัวอ่อนรวมทั้งมดราชินี มดที่เราเห็นส่วนใหญ่ล้วนเป็นมดงานทั้งสิ้น มดรังหนึ่งจะมีมดงานจำนวนมากเพราะเกิดได้หลายรุ่นในรอบปี มดบางชนิดยังอาจแบ่งมดงานเป็น “ มดทหาร” ซึ่งมีขนาดลำตัวใหญ่ (แต่เล็กกว่ามดราชินี) อาจพบได้ภายในรังและบริเวณใกล้รังเพื่อป้องกันศัตรูต่างๆ อีกประเภทหนึ่งคือ “ มดกรรมกร” มีขนาดเล็กกว่ามดทหาร พบได้ในบริเวณที่ห่างรังออกไปเนื่องจากต้องไปหาอาหารตามที่ต่างๆ |